วันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2553

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย



     รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นกฎหมายสูงสุดแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมายแห่งราชอาณาจักรไทยอื่นๆ จึงจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ โดยในปัจจุบันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรหลักที่ทำหน้าที่ตีความรัฐธรรมนูญและวินิจฉัยข้อขัดแย้งข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองราชอาณาจักรไทย ซึ่งตั้งแต่ปีพ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน ราชอาณาจักรไทยมีรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น 18 ฉบับ แสดงให้เห็นถึงการขาดเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ ซึ่งฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
   ภาพรวมของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ในทางวิชาการกฎหมายนั้นแนวคิดประชาธิปไตยตะวันตกได้ถ่ายทอดอยู่ในรูปแบบของทฤษฎีกฎหมายที่เรียกว่า ทฤษฎีรัฐธรรมนูญนิยม (constitutionalism) ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการสามประการ คือ การรับรองสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และการเสริมสร้างเสถียรภาพและประสิทธิภาพให้กับรัฐบาล รัฐธรรมนูญไทยหลายๆฉบับได้ยอมรับแนวคิดดังกล่าวและนำมาเป็นเจตนารมณ์แห่งรัฐ ธรรมนูญในการกำหนดกรอบในการตราบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหลายๆฉบับของไทย เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นต้น โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้บัญญัติอย่างชัดแจ้งถึงหลักการดังกล่าวในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ

   ดังนั้นโดยสภาพแล้วรัฐธรรมนูญไทยหลายฉบับที่มีกรอบความคิดแบบตะวันตก ควรที่จะเกิดผลตามครรลองประชาธิปไตยตะวันตกเหมือนอย่างประเทศตะวันตก แต่ในทางตรงกันข้ามสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบการเมืองไทยดูเหมือนได้สวนทางกับ ระบบการเมืองของตะวันตก ซึ่งต้องยอมรับว่า รัฐธรรมนูญเป็นเพียงกฎหมายลายลักษณ์อักษรสูงสุดของรัฐ ประเทศไทยมีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญบ่อยครั้ง ซึ่งขัดกับแนวคิดทางนิติศาสตร์ที่ว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐ ซึ่งควรมีความศักดิ์สิทธิ์และคงทนถาวร

   สำหรับประเทศไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญนั้นนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายแม่บทสูงสุดในการปกครองที่ประเทศหลายฉบับรัฐธรรมนูญดังกล่าว ปรากฏใน 2 ลักษณะคือ ลักษณะหนึ่งเป็นรัฐธรรมนูญ มุ่งจะใช้บังคับเป็นการถาวรโดยที่มีการยกร่างกันอย่างเป็นระบบกับอีกลักษณะ คือรัฐธรรมนูญที่มุ่งจะใช้บังคับเป็นการชั่วคราวซึ่งมักจะเรียกว่า ธรรมนูญการปกครองนั่นเอง

   รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวบางฉบับใช้บังคับเป็นเวลานาน เช่น ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ซึ่งเกิดขึ้นโดยการทำรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ใช้บังคับเป็นเวลา 9 ปีเศษ แต่รัฐธรรมนูญฉบับถาวรหลายฉบับใช้บังคับในระยะเวลาสั้น ๆ เพราะเป็น รัฐธรรมนูญที่มีหลักการสอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่สอดคล้องกับโครงสร้างอำนาจทางการเมืองซึ่งไม่ได้อยู่ในมือของประชาชนอย่างแท้จริง ทว่าตกอยู่ในมือของกลุ่มข้าราชการประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะนายทหารระดับสูง ด้วยเหตุนี้รัฐธรรมนูญที่มุ่งจะใช้บังคับเป็นการถาวรจึงมักจะถูกยกเลิก โดยการทำรัฐประหาร โดยคณะผู้นำทางทหาร เมื่อคณะรัฐประหาร ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น คณะปฏิวัติ คณะปฏิรูป หรือคณะรักษาความสงบเรียบร้อย ยึดอำนาจได้สำเร็จก็จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวแล้วจึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่มุ่งจะใช้บังคับเป็นการถาวรแล้วก็จะมีการเลือกตั้ง และตามด้วยการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญฉบับถาวร แต่เมื่อรัฐบาลดังกล่าวบริหารประเทศไปได้สักระยะหนึ่งก็จะถูกทำการรัฐประหาร และประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับถาวร แล้วก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พร้อมทั้งจัดให้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรใหม่อีก หมุนเวียนเป็นวงจรการเมืองของรัฐไทยมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานนับหลายสิบปี นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา
   แม้จะเกิดกรณี 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนเข้าร่วมเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็น ประชาธิปไตยมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากจอมพลถนอม กิตติขจรทำรัฐประหารรัฐบาลของตนเอง เพราะขณะทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองนั้น จอมพลถนอม ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 และเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พร้อมกับเตรียมร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรตามวงจร การเมืองของไทยที่เคยเป็นมา ก็เกิดกระบวนการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ จนนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 จนทำให้จอมพลถนอม กิตติขจร ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเดินทางออกนอกประเทศไทย และแม้ต่อมาจะมีการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 ที่เป็นรัฐธรรมนูญซึ่งมีหลักการที่เป็นประชาธิปไตยมากฉบับหนึ่ง แต่ในที่สุดก็มีการทำรัฐประหารอีก และก็เกิดเหตุการณ์นองเลือดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ทำให้วงจรการเมืองไทยหมุนกลับไปสู่วงจรเดิม คือ รัฐประหาร ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร จัดให้มีการเลือกตั้ง จัดตั้งรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และทำรัฐประหารยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ซ้ำซากไม่จบสิ้น เฉลี่ยแล้ว รัฐธรรมนูญไทยเปลี่ยนแปลงทุกๆ 4 ปี ต่างจากกรณีของประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีรัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียว ซึ่งนับตั้งแต่ประกาศใช้ จำนวน 7 มาตรา 55 อนุมาตรา ใน พ.ศ. 2332 จนถึงปัจจุบันสองร้อยกว่าปีนั้น ก็มีแต่การแก้ไขให้ทันสมัยเท่านั้น ยังหาได้มีการยกเลิกทั้งฉบับเฉกเช่นกรณีของประเทศไทยแต่อย่างใด
   อย่างไรก็ดี มิใช่ว่ารัฐธรรมนูญที่ดี จะไม่อาจแก้ไขได้เลย เพราะในความเป็นจริงย่อมไม่มีกฎหมายฉบับใดที่เหมาะสมกับทุกเวลาสถานการณ์ได้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญก็อาจแก้ไขได้ ตามเวลาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป แต่ต้องเป็นไปตามความจำเป็นเท่านั้น อาทิเช่น กรณีของสหรัฐอเมริกา ที่กล่าวมาข้างต้น ปัจจุบันยังไม่เคยเปลี่ยนรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ยังคงใช้ฉบับเดิมมาแต่แรก มีเพียงการแก้ไขปรับปรุงส่วนที่จำเป็นเท่านั้น ดังนั้น การจะทำให้กลไกหรือมาตรการต่างๆ ในรัฐธรรมนูญยั่งยืนถาวรได้นั้น จึงอยู่ที่ทุกคนในสังคมที่จะกำหนดวัฒนธรรมทางการเมืองของสังคมว่าจะมีส่วนเข้าใจและเข้าถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยได้เพียงใด
   รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทั้งหมด
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยรัฐธรรมนูญ ฉบับแรกของไทย มีชื่อว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475” จากนั้น ราชอาณาจักรไทย ก็ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาตามลำดับ ดังนี้

1.พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475
2.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475
3.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489
4.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490
5.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492
6.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495
7.ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502
8.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511
9.ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515
10.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517
11.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519
12.ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520
13.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521
14.ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534
15.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534
16.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
17.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549
18.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
  
    การแบ่งกลุ่มรัฐธรรมนูญ
หากแบ่งกลุ่มรัฐธรรมนูญ ด้วยการวัดที่ระดับการเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติ จะสามารถแบ่งได้เป็นสามกลุ่มดังนี้
1.สภาที่มาจากการเลือกตั้ง: สภานิติบัญญัติในกลุ่มนี้จะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด. ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 (ซึ่งสภาผู้แทนมีการเลือกตั้งโดยตรง ส่วนสภาสูงซึ่งเรียกว่าพฤฒสภามาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม) และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (ที่ทั้งสองสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรง)
2.สภาที่เกิดมาจากการสรรหา: สภานิติบัญญัติที่เกิดมาจากการสรรหาทั้งหมดหรือบางส่วน โดยที่สมาชิกผู้มาจากการสรรหานั้นมีอำนาจมากพอในการจำกัดอำนาจสมาชิกที่มีมาจาการเลือกตั้งได้ ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
3.สภาที่เกิดมาจากการแต่งตั้ง: ฝ่ายบริหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดหรือเกือบจะเป็นเช่นนั้น ไดเแก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475, ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502, ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519, ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น