บุคคลสำคัญ


สมเด็จพระเจ้าบรมวงค์เธอ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

             สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เป็นพระโอรสในรัชกาลที่ ๔  กับเจ้าจอมมารดาชุ่ม  มีพระนามเดิมว่า  พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร  ประสูติเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๕  ทรงได้รับการศึกษาเบื้องต้นในพระบรมหมาราชวัง  ในสมัยรัชกาลที่   ได้รับการสถาปนาเป็นกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ  แล้วเลื่อนเป็นกรมหลวง  ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖  ได้เลื่อนขึ้นเป็นกรมพระยา  และเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ ๗  ได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ   สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาบ้านเมือง โดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศในสมัยรัชกาลที่ ๕  ทรงปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วนความวิริยะอุตสาหะ  มีความรอบรู้  มีความซื่อสัตย์  และจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์   
 
ผลงานสำคัญมี 3 ด้าน    
 
การศึกษา
 
                ใน พ.ศ. ๒๔๒๓  ทรงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก จึงเกี่ยวข้องกับการศึกษามาตั้งแต่นั้น  เนื่องจากมีการตั้งโรงเรียนทหารมหาดเล็กขึ้นในกรมทหารมหาดเล็ก ต่อมาเปลี่ยนเป็นโรงเรียนพลเรือน  จนถึง พ.ศ. ๒๔๓๓  ทรงเป็นอธิบดีกรมศึกษาธิการและกำกับกรมธรรมการ  จึงปรับปรุงงานด้านการศึกษาให้ทันสมัย เช่น กำหนดจุดมุ่งหมายทางการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ คือ ฝึกคนเพื่อเข้ารับราชการ กำหนดหลักสูตร เวลาเรียนให้เป็นแบบสากล  ทรงนิพนธ์แบบเรียนเร็วขึ้นใช้เพื่อสอนให้อ่านได้ภายใน ๓ เดือน  มีการตรวจคัดเลือกหนังสือเรียน  กำหนดแนวปฏิบัติราชการในกรมธรรมการ  และริเริ่มขยายการศึกษาออกไปสู่ราษฎรสามัญชน  เป็นต้น  
 
การปกครอง
 
                ทรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยคนแรกเป็นเวลานานถึง ๒๓ ปี ติดต่อกันตั้งแต่  พ.ศ. ๒๔๓๕ - ๒๔๕๘  ทรงมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานระบบการบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคในแนวใหม่  โดยยกเลิกการปกครองที่เรียกว่า  ระบบกินเมือง   ซึ่งให้อำนาจเจ้าเมืองมาก มาเป็นการรวมเมืองใกล้เคียงกันตั้งเป็นมณฑล  และส่งข้าหลวงเทศาภิบาลไปปกครองและจ่ายเงินเดือนให้พอเลี้ยงชีพ  ระบบนี้เป็นระบบการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง  นอกจากนี้มีการตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นในกระทรวงมหาดไทย  เพื่อทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขราษฎร  เช่น  กรมตำรวจ  กรมป่าไม้  กรมพยาบาล  เป็นต้น  ตลอดเวลาที่ทรงดูแลงานมหาดไทย ทรงให้ความสำคัญแก่การตรวจราชการเป็นอย่างมาก เพราะ ต้องการเห็นสภาพเป็นอยู่ที่แท้จริงของราษฎร ดูการทำงานของข้าราชการ และเป็นขวัญกำลังใจแก่ข้าราชการหัวเมืองด้วย  
  งานพระนิพนธ์     
          ทรงนิพนธ์งานด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมไว้เป็นจำนวนมาก  ทรงใช้วิธีสมัยใหม่ในการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์และโบราณคดี  จนได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ไทย    สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘  ในสมัยรัชกาลที่ ๖  เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพ แต่ต่อมาเสด็จกลับเข้ารับราชการอีกครั้ง    ในตำแหน่งเสนาบดีมุรธาธร   และเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ ๗  ทรงดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรี งานสำคัญอื่นๆ ที่ทรงวางรากฐานไว้  ได้แก่  หอสมุดสำหรับพระนคร  และงานด้านพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖  ทรงเป็นต้นราชสกุล ดิศกุล  ใน พ.ศ. ๒๕๐๕  ยูเนสโกประกาศยกย่องพระองค์ให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเกียรติจากสถาบันแห่งนี้ 
อริสโตเติล (กรีก: Αριστοτέλης, Aristotelēs ; อังกฤษ: Aristotle) (พ.ศ. 160 (384 ก่อนค.ศ.) - 7 มีนาคม พ.ศ. 222 (322 ก่อนค.ศ.)) เป็นนักปรัชญากรีกโบราณ ท่านและเพลโตได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักปรัชญาที่มีอิทธิพลสูงที่สุดท่านหนึ่ง ในโลกตะวันตก ด้วยผลงานเขียนหนังสือเกี่ยวกับฟิสิกส์ กวีนิพนธ์ สัตววิทยา รัฐบาล และชีววิทยา


เฮนรี อาลาบาศเตอร์


นายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ (พ.ศ. 2379 – พ.ศ. 2427)


          เฮนรี อาลาบาศเตอร์ (Henry Alabaster) (พ.ศ. 2379 - พ.ศ. 2427) ต้นตระกูล เศวตศิลา รองกงสุลชาวอังกฤษ สถานทูตอังกฤษ ประจำประเทศไทย เป็นผู้รังวัดในการตัดถนนเจริญกรุง ต่อมาเกิดขัดแย้งกับกสุลนอกซ์ จึงลาออกและเดินทางกลับประเทศอังกฤษ และเดินทางกลับมารับราชการกับไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2416 เป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้วางรากฐานการทำแผนที่ การสร้างถนน กิจการไปรษณีย์โทรเลข โทรศัพท์ และพิพิธภัณฑ์
ชีวิตและงานในประเทศสยาม

          ก่อนเข้ารับราชการ
       นายเฮนรี อาลาบาศเตอร์เข้ามาประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2399 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในฐานะนักเรียนล่ามเข้ามาเรียนภาษาไทยเพื่อกลับไปรับราชการที่ประเทศอังกฤษ แต่ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองกงสุลอังกฤษประจำกรุงเทพฯ ในระหว่างดำรงตำแหน่งรองกงสุลฯ นายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ ผู้ทำหน้าที่รั้งตำแหน่งกงสุลอังกฤษประจำกรุงสยาม ยังได้เป็นหัวหน้าคณะผู้สังเกตการณ์ดาราศาสตร์ของพระราชินีนาถแห่ง ร่วมกับคณะนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส คณะของผู้รั้งตำแหน่งกงสุลอเมริกันประจำกรุงสยาม ตลอดจนชาวยุโรปและอเมริกันที่พำนักอยู่ในประเทศ โดยพระบรมราชานุญาตเข้าร่วมสังเกตการณ์สุริยุปราคาที่บ้านหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 อีกด้วย แต่ภายหลังเมื่อทำงานในตำแหน่งรองกงสุลไปได้ระยะหนึ่งก็ได้เกิดความขัดแย้งกับกงสุลน็อกซ์ จึงได้ลาออกจากตำแหน่งกลับประเทศอังกฤษ
       แต่หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสรอบแหลมมลายู ชวา และอินเดีย เมื่อ พ.ศ. 2416 (พระชนมายุ 20 พรรษา) แล้ว ได้ทรงนำนายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ (อายุ 37 ปี) กลับเข้ามารับราชการเป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ ทรงโปรดเกล้าให้ทำราชการหลายหน้าที่ รวมทั้งหัวหน้าล่าม ราชเลขาธิการส่วนพระองค์ รวมทั้งเจ้ากรมพิพิธภัณฑสถานและสวนสราญรมย์ และข้าหลวงผู้จัดการงานสร้างถนนและสะพาน

การรับราชการ

     ในฐานะราชเลขาธิการส่วนพระองค์ และเป็นผู้มีความสนใจและมีความรู้ด้านต้นไม้ นายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ จึงได้กราบบังคมทูลถวายคำแนะนำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างสวนสราญรมย์ขึ้นในบริเวณวังสราญรมย์ที่สร้างไว้ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 2409 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อเป็นสวนพฤกษศาสตร์ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ และให้เป็นที่ศึกษาพรรณไม้และพันธุ์สัตว์ตามแบบอย่างในต่างประเทศ โดยนายเฮนรี อาลาบาศเตอร์เองเป็นผู้ออกแบบและดูแลการก่อสร้างสวนด้วยตนเองเมื่อ พ.ศ. 2417 และยังเป็นผู้สั่งกล้วยไม้รวมทั้งแคทลียามาแสดงในสวนอีกด้วย
       นอกจากนี้ นายเฮนรี่ อาลาบาศเตอร์ได้ถวายคำแนะนำในการพัฒนาประเทศด้วยวิชาการสมัยใหม่หลายสาขา รวมทั้งวิชาการสำรวจรังวัด วิชาการทำแผนที่และวิชาการทำถนนซึ่งมีความจำเป็นมากในสมัยนั้น จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองทำแผนที่ทดลองขึ้นใน พ.ศ. 2418 โดยมีนายเฮนรี อาลาบาศเตอร์เป็นหัวหน้ากอง กัปตันลอฟตัสเป็นผู้ช่วย พร้อมกับคนไทย 4 คน (ม.ร.ว. แดง เทวาธิราช นายทัด ศิริสัมพันธ์ นายสุด และ ม.ร.ว. เฉลิม) โดยเริ่มด้วยการสำรวจทำแผนที่กรุงเทพฯ เพื่อตัดถนนเจริญกรุงและถนนอื่นๆ รวมทั้งงานทำแผนที่เพื่อวางสายโทรเลขไปยังพระตะบอง แผนที่บริเวณปากอ่าวสยาม เพื่อการเดินเรือและเพื่อเตรียมการป้องกันการรุกรานของข้าศึกที่อาจมาทางทะเล ต่อมา นายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ผู้ซึ่งมิได้เป็นผู้เชี่ยวชาญโดยตรงในงานแผนที่จึงได้ถวายคำแนะนำให้ว่าจ้างช่างสำรวจรังวัดและทำแผนที่โดยตรงคือ นายเจมส์ เอฟ.แมคคาร์ธี ผู้ช่วยช่างทำแผนที่จากกรมแผนที่แห่งอินเดีย เข้ามารับราชการในกองทำแผนที่ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2424 (ขยายเป็นกรมทำแผนที่ในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2428)

ผลงานสำคัญ

      ผลงานสำคัญของนายเฮนรี อาลาบาศเตอร์พอสรุปโดยสังเขปได้ดังต่อไปนี้

    • พ.ศ. 2417 ออกแบบและก่อสร้างสวนสราญรมย์ นำกล้วยไม้แคทลียา เข้ามาในประเทศไทย
    • พ.ศ. 2417 นำล็อตเตอรี เข้ามาออกในประเทศไทยเป็นครั้งแรก เพื่อระดมทุนช่วยเหลือพ่อค้าต่างชาติที่นำสินค้ามาแสดงในการจัดพิพิธภัณฑ์ที่ตึกคองคาเดีย พระบรมมหาราชวัง โดยกรมทหารมหาดเล็กเป็นผู้รับผิดชอบ
   • พ.ศ. 2418 ก่อตั้งกองทำแผนที่และเริ่มงานทำแผนที่สำรวจรังวัดเพื่อสร้างถนนต่างๆ
   • พ.ศ. 2424 ถวายคำแนะนำให้จ้างนายเจมส์ เอฟ.แมคคาร์ธีมาดูแลกองทำแผนที่
   • พ.ศ. 2426 ก่อตั้งกรมไปรษณีย์ และกรมโทรเลข

ชีวิตบั้นปลาย

    นายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ สมรสกับคุณเพิ่ม สุภาพสตรีชาวไทย มีบุตรชาย 2 คนรับราชการในประเทศไทย ได้แก่มหาอำมาตย์ตรี พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ (ทองคำ เศวตศิลา) (ซึ่งเป็นบิดาของ พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา องคมนตรี) และพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (ทองย้อย เศวตศิลา)
    นายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ถึงแก่อนิจกรรมด้วยอายุเพียง 48 ปี แต่โดยที่นายเฮนรีได้ปฏิบัติราชการมีคุณประโยชน์ต่อแผ่นดินมาก จึงได้เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยโปรดปรานใกล้ชิดเบื้องยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชหัตถเลขาลงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2427 ถึงภรรยาหม้ายของนายอาลาบาศเตอร์ สรรเสริญเกียรติคุณที่ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาเป็นเวลามากกว่า 10 ปี และโปรดให้เจ้าพนักงานจัดงานศพให้เสมอพระยาเอก ให้จัดทำมณฑปแบบฝรั่งไว้ ณ ที่ฝังศพด้วย

     หลุมฝังศพของเฮนรี อาลาบาศเตอร์ อยู่ที่สุสานโปรเตสแตนต์ ถนนเจริญกรุง ยานนาวา กรุงเทพฯ